ปักกิ่ง, 21 เม.ย. (ซินหัว) -- จีนกลายมาเป็นประเทศนอกยุโรปแห่งแรกที่สามารถปรับใช้และบูรณาการบริการที่จำเป็นในการจัดตั้งโหนด (node) สำหรับหอสังเกตการณ์อาเรย์ตารางกิโลเมตร หรือเอสเคเอ (SKA) ในระยะแรกได้สำเร็จ ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญในความร่วมมือทางดาราศาสตร์ระหว่างประเทศ
โหนดของจีน ซึ่งสร้างโดยหอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์เซี่ยงไฮ้ สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน ผ่านการทดสอบการบูรณาการที่จัดขึ้นโดยสำนักงานใหญ่ของหอสังเกตการณ์เอสเคเอ และได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายระดับโลกร่วมกับสเปน สวิตเซอร์แลนด์ สวีเดน และสหราชอาณาจักร
หอสังเกตการณ์เอสเคเอเป็นกลุ่มกล้องโทรทรรศน์วิทยุรุ่นใหม่ขนาดยักษ์ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง และเมื่อสร้างแล้วเสร็จจะกลายเป็นกล้องโทรทรรศน์วิทยุที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งมีเป้าหมายสำรวจต้นกำเนิดและวิวัฒนาการของเอกภพ
โหนดของจีนใช้สถาปัตยกรรมแบบคลาวด์เนทีฟ (cloud-native) ที่ล้ำสมัย ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรกว่าร้อยละ 35 เมื่อเทียบกับแบบจำลองการประมวลผลแบบดั้งเดิม พร้อมทั้งรองรับการส่งข้อมูลข้ามทวีป
อนึ่ง โครงการอาเรย์ตารางกิโลเมตรมีเป้าหมายไขความลับของจักรวาล โดยมีศักยภาพในการค้นพบหลักฐานเกี่ยวกับสสารมืด พลังงานมืด และคลื่นความโน้มถ่วง
(แฟ้มภาพซินหัว : ต้นแบบจานรับสัญญาณชุดแรกของโครงการกล้องโทรทรรศน์วิทยุเอสเคเอ วันที่ 6 ก.พ. 2018)